7 เทคโนโลยีการพิมพ์ในปัจจุบัน ที่ยังคงได้รับความนิยม

เทคโนโลยีการพิมพ์ในปัจจุบัน มีอะไรบ้าง

1. พิมพ์ดิจิตอล (Digital Printing)

เป็นการพิมพ์ที่ใช้เครื่องพิมพ์ หรือพริ้นเตอร์ต่อพ่วงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยสามารถสั่งพิมพ์ได้โดยตรงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งงานพิมพ์ประเภทนี้ เป็นงานพิมพ์ที่มีปริมาณไม่มาก พิมพ์ครั้งละจำนวนน้อย ๆ นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนภาพ หรือแก้ไขข้อความได้บ่อย ๆ

2. พิมพ์ออฟเซ็ท (Offset Printing)

พิมพ์แบบออฟเซ็ท เป็นการพิมพ์พื้นราบ ที่สามารถพิมพ์ลงบนกระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ ได้หลากหลาย เหมาะสำหรับการพิมพ์ครั้งละมาก ๆ วิธีการ คือใช้ระบบและหลักการน้ำกับน้ำมันไม่รวมตัวกัน โดยสร้างเยื่อน้ำไปเกาะอยู่บนบริเวณไร้ภาพของแผ่นแม่พิมพ์ เมื่อรับหมึก หมึกจะไม่เกาะน้ำแต่จะไปเกาะบริเวณที่เป็นภาพแล้วถูกถ่ายลงบนผ้ายางและกระดาษพิมพ์ต่อไป ซึ่งเป็นการพิมพ์ที่เน้นรายละเอียดการพิมพ์สูงมาก มีเครื่องพิมพ์หลายขนาดงานที่เหมาะกับงานพิมพ์ออฟเซ็ท เช่น นามบัตร ใบปลิว แผ่นพับ โบรชัวร์ โปสเตอร์ โปสการ์ด บัตรเชิญ หนังสือ วารสาร นิตยสาร แคตตาล็อก งานพิมพ์ใช้ในสำนักงาน ฯลฯ

3. พิมพ์อิงค์เจ็ท (Inkjet)

เป็นงานพิมพ์ที่ใช้เครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก โดยการพ่นหมึกออกมาเป็นหยดเล็ก ๆ ลงบนกระดาษ เมื่อสั่งพิมพ์ตัวเครื่องจะคำนวณตำแหน่งจุดของภาพรวม และพ่นสีหมึกที่ประมวลผลไว้อย่างแม่นยำตามรูปแบบไฟล์งานที่ใส่เข้าไป ทำให้ภาพออกมาชัดเจ่นและคมชัด ซึ่งงานพิมพ์ประเภทนี้สามารถสั่งพิมพ์ได้ทั้งงานขนาดเล็กและงานขนาดใหญ่ ไม่จำกัดขนาดบนกระดาษ เหมาะสำหรับนำมาใช้ทั้งงานภายในและงานภายนอกอาคารงานที่เหมาะกับงานพิมพ์อิงค์เจ็ท เช่น ป้ายแบนเนอร์ โปสเตอร์ ป้ายโฆษณา บิลบอร์ด โฆษณาติดข้างรถต่าง ๆ ตลอดจนงานพิมพ์ตกแต่งตามอีเว้นท์ต่าง ๆ

4. พิมพ์ซิลค์สกรีน (Silkscreen Printing)

เป็นการพิมพ์พื้นฉลุที่ใช้หลักการพิมพ์ โดยให้หมึกซึมทะลุผ่านผ้าที่ขึงตึงไว้ และให้ทะลุผ่านเฉพาะบริเวณที่เป็นภาพ สามารถพิมพ์งานสอดสีได้และสามารถพิมพ์ลงบนวัสดุได้หลากหลายชนิด ทั้งกระดาษ ผ้า ไม้ พลาสติก รวมไปถึงพิมพ์บนวัสดุที่มีผิวโค้งได้ เช่น แก้ว ขวด จานชาม เป็นต้น นอกจากนี้ความละเอียดของภาพพิมพ์ขึ้นอยู่กับความถี่ของเส้นใยผ้าอีกด้วยงานที่เหมาะกับงานพิมพ์ซิลค์สกรีน ได้แก่ ป้ายกระดาษ ป้ายโฆษณา นามบัตร พลาสติก โลหะ เสื้อผ้า ขวด จานชาม บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

5. พิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ (Letterpress Printing)

เป็นการพิมพ์พื้นนูนที่ใช้แม่พิมพ์ทำจากโลหะผสม หรือพอลิเมอร์อย่างหนากัดผิวจนเหลือส่วนที่เป็นภาพนูน สำหรับรับหมึกพิมพ์แล้วถ่ายทอดลงบนวัสดุที่ใช้พิมพ์โดยใช้วิธีกดทับ แต่การทำแม่พิมพ์ค่อนข้างลำบากและภาพพิมพ์ที่ได้ไม่ค่อยสวยงาม ทำให้ในปัจจุบันมีการพิมพ์ประเภทนี้เหลืออยู่น้อยงานที่เหมาะกับงานพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ ได้แก่ กล่อง ฉลาก นามบัตร แบบฟอร์ม ป้ายและงานพิมพ์อื่น ๆ ที่ไม่ต้องการความละเอียดมาก เป็นต้น

6. พิมพ์เฟล็กโซกราฟี (Flexography)

เป็นการพิมพ์พื้นนูนที่ใช้แผ่นพอลิเมอร์ที่มีความยืดหยุ่นที่ดีเป็นแม่พิมพ์ โดยกัดส่วนที่ไม่รับหมึกเว้าลึกลงไป หลักการพิมพ์จะใช้หลักการคล้ายกับการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสคือใช้การกดทับ แต่หมึกที่ใช้จะเหลวกว่าและใช้ลูกกลิ้งที่ทำขึ้นเป็นพิเศษทำหน้าที่จ่ายหมึกในปริมาณที่สม่ำเสมอให้กับแม่พิมพ์ และยังสามารถพิมพ์ภาพสอดสีได้ รวมไปถึงยังสามารถใช้ในสิ่งพิมพ์ได้หลาย ๆ ประเภทงานที่เหมาะกับงานพิมพ์เฟล็กโซกราฟี ได้แก่ ป้าย กล่องลูกฟูก กล่องกระดาษแข็ง กระดาษชำระ ฉลาก ถุง ซองพลาสติก เป็นต้น

7. พิมพ์กราวัวร์ (Gravure)

เป็นการพิมพ์พื้นลึกที่ใช้แม่พิมพ์ที่เป็นร่องลึก สำหรับบริเวณที่เป็นภาพเพื่อเก็บหมึกแล้วไว้ปล่อยลงบนผิวของชิ้นงานพิมพ์ คุณภาพงานพิมพ์แบบนี้ค่อนข้างดี ในส่วนของแม่พิมพ์แบบนี้มักเป็นลูกกลิ้งทรงกระบอก ทำด้วยโลหะใช้วิธีกัดผิวทรงกระบอกเป็นหลุมตามบริเวณที่เป็นภาพ จึงทำค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา แถมยังมีค่าใช้จ่ายสูง จึงเหมาะกับงานยาว ๆ มากกว่างานที่เหมาะกับงานพิมพ์กราวัวร์ ได้แก่ ซองพลาสติกใส่อาหารและขนม งานพิมพ์บนพลาสติกต่าง ๆ งานพิมพ์ในต่างประเทศบางแห่งมีการพิมพ์แมกกาซีน หนังสือพิมพ์ และงานพิมพ์บนกระดาษที่มีปริมาณพิมพ์สูง